お陰様をもちまして、当教室は今年10周年を迎えることができました。これも皆さんの暖かいご支援があってのことです。心より感謝申し上げます。スタッフ一同なお一層の努力して参ります。今後とも何卒よろしくお願い致します。
10周年記念の meaw 先生のエッセイです。
ครบรอบปีที่ ๑๐ ศาลาภาษาไทย
เล่าเรื่อง ศาลาภาษาไทย
สวัสดีค่ะ ยินต้อนรับท่านผู้เข้าเยี่ยมชมเว็ปไซด์ ศาลาภาษาไทย
หลายคนคงมีคำถามว่า “ ศาลาภาษาไทย ” คืออะไร สำหรับคนไทยที่ฟังชื่อนี้แล้ว คงจะจินตนาการว่าน่าจะเป็นร้านอาหารไทยหรือร้านขายสินค้าไทยเพราะทั้้้้งที่เมืองไทยและในญี่ปุ่นมีร้านอาหารไทยหลายร้านที่ใช้ชื่อว่า“ศาลาไทย” ส่วนใหญ่ร้านอาหารไทยที่มีชื่อแบบนี้ก็จะมีการตกแต่งบรรยากาศ ร้านเป็นแบบสวนอาหารและจะต้องมี “ศาลา” เป็นสัญลักษณ์หรือเป็นที่นั่งรับประทานอาหาร
สำหรับคนญี่ปุ่นคำว่า “ภาษาไทย” นั้นคงไม่ต้องอธิบาย แต่สำหรับคำว่า “ศาลา” นั้นมักจะได้รับคำตอบว่า ศ. ศาลา(พยัญชนะภาษาไทยตัวหนึ่ง) เมื่อได้รับคำตอบเช่นนี้ก็รู้สึกดีใจว่าอย่างน้อยคนญี่ปุ่นมีความสนใจในการเรียนภาษาไทยมาก แต่เมื่อมีความรักในการเรียนภาษาไทย แล้วก็อยากให้เข้าใจวิถีชีวิตคนไทย รวมทั้งประเพณีและวัฒนธรรมไทยด้วย
จริงๆแล้วศาลานั้นเป็นสถาปัตยกรรมของไทยที่มีคู่มากับวิถีชิวิตคนไทย แต่โบราณแล้วทั้งสามัญชนธรรมดา และ เจ้านายชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นพระราชวัง , วัด , โรงเรียน , สวนสาธารณะ , โรงพยาบาล , สวนในบ้าน , ทุ่งนา , ชายทะเล , ท่ารถ(ที่ขึ้นรถประจำทางในต่างจังหวัด) , ท่าเรือ ก็สามารถพบเห็นสถาปัตยกรรม ศาลา ได้เกือบทุกแห่งที่กล่าวมาซึ่งแต่ละสถาน ที่ก็จะมีลักษณะรูปร่าง ชื่อเรียกการออกแบบแตกต่างกันออกไปตามยุคสมัยและความนิยม เพราะว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อนดังนั้นการสร้างศาลาจึงต้องมีหลังคาเพื่อบังแสงแดด ส่วนรอบตัวศาลาจะเปิดโล่งเพื่อให้รับลมและสามารถมองทัศนียภาพด้านนอกได้
สร้างศาลาเพื่ออะไร ทำไมต้องมีศาลาในสถานที่ต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น เช่นในพระราชวังก็อาจจะมี ศาลาชมสวน เป็นที่นั่งพักผ่อนหลบร้อนขณะที่ออกไปดูดอกไม้ในสวนของเจ้านาย เป็นที่ศึกษาเล่าเรียน(ห้องเรียน)ของลูกหลานเจ้านายชั้นสูง (เคยดูจากหนังเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์)
ถ้าท่านมีโอกาสได้แวะเข้าไปชมวัดต่างๆในเมืองไทย ก็จะพบว่าไม่มีวัดไหนที่ไม่มีศาลาอาจจะพูดได้ว่าวัดเป็นคู่แฝดกับศาลาก็ว่าได้ ศาลาในวัดนั้นจะใช้เป็นที่สำหรับฟังเทศนา หรือ ประกอบพิธีทางศาสนา จะเรียกว่า “ศาลาการเปรียญ”
ศาลาริมน้ำ ส่วนใหญ่จะสร้างไว้ริมแม่น้ำ , ลำคลอง นอกจากเอาไว้นั่งพักผ่อน หลบร้อนแล้ว ก็ใช้เป็นท่าสำหรับลงเรือ , จอดเรือ
ศาลาริมทาง ส่วนใหญ่จะสร้างไว้ริมทางเดิน ริมถนน มักจะเป็นที่นั่งพักเหนื่อย หรือรอรถประจำทาง บางแห่งในชนบทก็จะเป็นป้ายรถเมล์ หรือ ป้ายรถสองแถว
ระยะหลังเมื่อ ๓-๔ ปีที่ผ่านมา เมื่อกลับไปเมืองไทยได้เห็นหลายโรงเรียนมีการสร้างศาลาให้เด็กๆได้นั่งเล่น หลังจากรับประทานอาหารเที่ยงหรือช่วงหลังเลิกเรียนระหว่างรอผู้ปกครองมารับ อาจจะเป็นเพราะโรงเรียนมีการสร้างตึกเรียนเพิ่ม ทำให้พื้นที่ปลูกต้นไม้น้อยลง
หลายท่านไปเมืองไทยมาแล้วไม่ทราบว่าเคยได้ยิน หรือ ไปเห็น ไปสัมผัสสถานที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่ใช้คำว่า “ศาลา” นำหน้าชื่อ คือ
ศาลาเฉลิมไทย
เป็นโรงภาพยนตร์โรงแรกของกรุงเทพฯ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ เพื่อใช้เป็นโกดังเก็บของต่อมาให้ทำเป็นโรงละครมีการตกแต่งแบบไทยสวยงามมาก บรรจุที่นั่งได้ ๑,๓๐๐ ที่นั่ง เมื่อละครไม่เป็นที่นิยมก็เปลี่ยนมาเป็นโรงภาพยนตร์ แต่ปัจจุบันศาลาเฉลิมไทยได้ถูกรื้อถอนไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เพราะสถานที่ตั้งของอาคารไปบดบังทัศนียภาพของวัดราชนัดดารามวรวิหาร
ศาลาเฉลิมกรุง
สร้างในสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยและหรูหรา บรรจุผู้ชมมากกว่า ๒,๐๐๐คน ปัจจุบันยังเปิดดำเนินการอยู่ แต่จัดฉายภาพยนตร์และการแสดงสำคัญๆในโอกาสต่างๆ ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง กรุงเทพมหานคร
ส่วน “ศาลาภาษาไทย” นั้นก็คือชื่อสถานที่ (ห้องเรียน) สำหรับเรียนภาษาไทย ก่อกำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ (ค.ศ.๒๐๐๐) ได้เริ่มเปิดสอนภาษาไทยให้กับคนญี่ปุ่น ณ เมืองชิมิสุ จังหวัดชิสุโอกะ เดิมใช้ชื่อห้องเรียนว่า “สนุกกับภาษาไทย” ซึ่งขณะนั้นมีการประชาสัมพันธ์เฉพาะทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเท่านั้น แต่ก็มีผู้ให้ความสนใจมาสมัครเรียน แรกเริ่มจาก ๒ คน จนถึง ๕ คน มีครู ๑ คน แต่น่าเสียดายที่ “สนุกกับภาษาไทย” มีระยะเวลาที่ชิสุโอกะ เพียง๖เดือน ด้วยเหตุผลความจำเป็นจึงต้องย้ายมาเปิดห้องเรียนใหม่ที่ จ.โอซาก้า
ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ (ค.ศ.๒๐๐๑) ณ โอซาก้า ยังคงใช้ชื่อเดิมห้องเรียนว่า “สนุกกับภาษาไทย” เริ่มแรกจำนวนผู้เรียน ๕ คน ครู ๑ คน ห้องเรียน ๑ ห้อง หลังจากนั้นเริ่มมีทีมงานและเว็ปไซด์ ทำให้จำนวนผู้เรียนและครูเพิ่มขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อห้องเรียนใหม่เป็น “ศาลาภาษาไทย”
ตลอดระยะเวลาเกือบ ๑๐ ปี นอกจากทำการสอนภาษาไทยแล้ว ทางโรงเรียนก็ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมวิถีชืวิตคนไทย เช่น การสอนทำอาหารไทย, การสอนรำไทย , การสอนดนตรีไทย, การสอนแกะสลักผักผลไม้ไทย, การสอนจัดดอกไม้แบบไทย มีจำนวนผู้เข้ามาเยี่ยมชมห้องเรียน จำนวนผู้เรียนและครูเพิ่มขึ้นจึงได้ขยายห้องเรียนจาก ๑ เป็น ๒ และเป็น ๔ ห้องในปัจุบัน ตลอดจนได้มีการปรับปรุงเว็ปไซด์
ณ วันนี้ “ศาลาภาษาไทย” จะก่อกำเนิดขึ้นมาไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้เรียนทุกท่าน คณะครูและ ทีมงานจึงขอกราบขอบพระคุณ ท่านเป็นอย่างสููงมา ณ โอกาสนี้และหวังว่าในโอกาสต่อไปครู และทีมงาน คงจะได้รับความกรุณาจากท่านตลอดไป
อรุณวรรณ ช่างไม้
ครูใหญ่